ก่อนปลูกบุญ - บุญ กับ กุศล อยู่คนละหมู่บ้าน

ที่มา - "บุญ กับ กุศล" โดย พุทธทาสภิกขุ

ที่มา - www.cityvariety.com
บุญ กับ กุศล เมื่อใดมีการพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนั้นจะพบความแตกต่างระหว่าง สิ่งที่เรียกกันว่า "บุญ" กับ สิ่งที่เรียกว่า "กุศล" บ้างไม่มากก็น้อย แล้วแต่ความสามารถ ในการพินิจพิจารณา แต่ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว บุญ กับ กุศล ควรจะเป็น คนละอย่าง หรือ เรียกได้ว่า ตรงกันข้าม ตามความหมาย ของรูปศัพท์ แห่งคำสองคำ นี้ทีเดียว คำว่า บุญ มีความหมายว่า ทำให้ฟู หรือ พองขึ้น บวมขึ้น นูนขึ้น,

ส่วนคำว่า กุศล นั้น แปลว่า แผ้วถาง ให้ราบเตียนไป โดยความหมาย เช่นนี้ เราย่อมเห็นได้ว่า เป็นของคนละอย่างหรือเดินคนละทาง บุญ เป็นสิ่งที่ทำให้ฟูใจพอใจชอบใจ เช่น ทำบุญให้ทานหรือรักษาศีลก็ตาม แล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ หรือ แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่า ตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก ในกรณีที่ ทำบุญเอาหน้า เอาเกียรติ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้บุญ เหมือนกัน แม้จะ เป็น บุญชนิดที่ไม่สู้จะแพ้ หรือแม้ในกรณีที่ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อเอาบุญกันจริงๆ ก็ยังอดฟูใจไม่ได้ว่า ตนจะได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มีความปรารถนาอย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ อันเป็น ภวตัณหา นำไปสู่ การเกิดในภพใหม่ เพื่อเป็น อย่างนั้น อย่างนี้ ตามแต่ ตนจะปรารถนา ไม่ออก ไปจาก การเวียนว่ายตายเกิด ในวัฎสงสาร ได้ แม้จะไปเกิดในโลกที่เป็นสุคติ
อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำว่า บุญ จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ฟูใจ และ เวียนไปเพื่อความเกิดอีก ไม่มีวันที่สิ้นสุดลงได้ ส่วนกุศลนั้น เป็นสิ่งที่ ทำหน้าที่ แผ้วถาง สิ่งกีดขวาง ผูกรัด หรือ รกรุงรัง ไม่ข้องแวะ กับความฟูใจ หรือ พอใจ เช่นนั้น แต่มีความมุ่งหมายจะกำจัดเสียซึ่ง สิ่งต่างๆ อันเป็นเหตุ ให้พัวพัน อยู่ใน กิเลสตัณหา อันเป็น เครื่องนำให้ เกิดแล้ว เกิดอีก และมีจุดมุ่งหมาย กวาดล้างสิ่งเหล่านั้นออกไปจากตัว ในเมื่อบุญต้องการ โอบรัด เข้ามาหาตัว ให้มีเป็น ของของตัว มากขึ้น ในเมื่อฝ่ายที่ถือข้างบุญยึดถือ อะไรเอาไว้มากๆ และพอใจ ดีใจนั้น

ฝ่ายที่ถือข้างกุศล ก็เห็นว่า การทำอย่างนั้น เป็นความโง่เขลา ขนาดเข้าไป กอดรัดงูเห่า ทีเดียว ฝ่ายข้างกุศล หรือ ที่เรียกว่า ฉลาด นั้น ต้องการจะ ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไป ทั้งช่วยผู้อื่น ให้ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไปด้วยกัน ฝ่ายข้างกุศล จึงถือว่า ฝ่ายข้างบุญนั้น ยังเป็นความมืดบอดอยู่ แต่ว่า บุญ กับ กุศล สองอย่างนี้ ทั้งที่มี เจตนารมณ์ แตกต่างกัน ก็ยังมี การกระทำ ทางภายนอกอย่างเดียวกัน ซึ่งทำให้เราหลงใหลในคำสองนี้อย่างฟั่นเฝือ เพื่อจะให้ เข้าใจกันง่ายๆ เราต้องพิจารณา ดูที่ตัวอย่างต่างๆ ที่เรา กระทำกัน อยู่จริงๆ คือ ในการให้ทาน ถ้าให้เพราะจะเอาหน้าเอาเกียรติ หรือ เอาของตอบแทน เป็นกำไร หรือ เพื่อผูกมิตร หาพวกพ้อง หรือ แม้ที่สุดแต่ เพื่อให้บังเกิดในสวรรค์ อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทานเอาบุญหรือได้บุญ แต่ถ้าให้ทาน อย่างเดียวกันนั่นเอง แต่ต้องการ เพื่อขูดความขี้เหนียว ของตัว ขูดความเห็นแก่ตัว หรือให้เพื่อค้ำจุนศาสนา เอาไว้ 

เพราะเห็นว่า ศาสนาเป็น เครื่องขูดทุกข์ ของโลก หรือ ให้เพราะ เมตตาล้วนๆ โดยบริสุทธิ์ใจ หรืออำนาจเหตุผล อย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่ง ปัญญาเป็นผู้ชี้ขาดว่า ให้ไปเสีย มีประโยชน์มากกว่าเอาไว้อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทานเอากุศล หรือได้กุศล ซึ่งมันแตกต่างๆ ไปคนละทิศ ละทางกับการให้ทานเอาบุญ เราจะเห็นได้กันสืบไป อีกว่า การให้ทานเอาบุญนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการฟุ่มเฟือยขึ้นในสังคม ฝ่ายผู้รับทาน จนกลายเป็นผลร้ายขึ้น ในวงพระศาสนาเอง หรือในวงสังคมรูปอื่นๆ เช่น มีคน ขอทานในประเทศมากเกินไป เป็นต้น การให้ทาน ถูกนักคิดพากันวิพากษ์วิจารณ์ ในแง่เสื่อมเสีย ก็ได้แก่ การให้ทานเอาบุญนี้เอง  ส่วนการให้ทานเอากุศลนั้นอยู่สูง พ้นการที่ถูกเหยียดอย่างนี้ เพราะว่ามีปัญญาหรือเหตุผลเข้าควบคุม แม้ว่าอยากจะ ให้ทาน เพื่อขูดเกลา ความขี้เหนียว ในจิตใจ ของเขา ก็ยังมีปัญญา รู้จักเหตุผลว่า ควรให้ ไปในรูปไหน มิใช่เป็นการให้ไปในรูปละโมบบุญหรือเมาบุญ

เพราะว่ากุศล ไม่ได้เป็นสิ่งที่หวานเหมือนกับบุญ จึงไม่มีใครเมา และไม่ทำให้เกิดการเหลือเฟือ ผิดความสมดุลขึ้นในวงสังคมได้เลย นี่เราพอจะเห็นได้ว่า ให้ทานเอาบุญ กับ ให้ทานเอากุศลนั่น ผิดกันเป็นคนละอันอย่างไร ในการรักษาศีล ก็เป็นทำนองเดียวกันอีก รักษาศีลเอาบุญ คือรักษาไปทั้งที่ไม่รู้จัก  ความมุ่งหมายของศีล เป็นแต่ยึดถือในรูปร่างของการรักษาศีล แล้วรักษาเพื่ออวด เพื่อนฝูง หรือ เพื่อแลกเอาสวรรค์ ตามที่ นักพรรณนาอานิสงส์ เขาพรรณนากันไว้ หรือ ทำอย่างละเมอไปตามความนิยมของคนที่มีอายุล่วงมาถึงวัยนั้นวัยนี้ เป็นต้น ยิ่งเคร่งเท่าใด ยิ่งส่อความเห็นแก่ตัว และความยกตัว มากขึ้น เท่านั้น ยิ่งมีความ ยุ่งยากในครอบครัว หรือวงสังคม เกิดขึ้นใหม่ๆ แปลกๆ เพราะ ความเคร่งครัด ในศีลของบุคคลประเภทนี้อย่างนี้ เรียกว่ารักษาศีลเอาบุญ...(บทความเต็มอ่านจากลิงค์ข้างต้นครับ) ที่ยกมานี้เป็นของท่านพุทธทาส...นำมาเสนอนักปลูกบุญ เผื่อว่า ใครยังไม่รู้จักหน้าตาของบุญ. เมื่อรู้จักแล้ว เวลาปลูกบุญ ก็จะได้ไม่่ต้องกังวล เดินหน้าปลูกบุญลูกเดียว... ขอให้ผลบุญจากการอ่าน จงเป็นของสรรพสัตว์ทุกภพภูมิเถิด.


       ตัวอย่างหนังสือทำบุญ


                   
    สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นแปล                     พระพุทธมนต์มงคลชีวิต                              มหาสันติคาถา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น