ประวัติ พระสารีบุตรเถระ


๑. สถานะเดิม

       พระสารีบุตรเถระ
 ชื่อเดิมว่า อุปติสสะ เป็นชื่อที่บิดามารดาตั้งให้ เพราะเป็นบุตรของตระกูล ผู้เป็นหัวหน้าในอุปติสสคาม
       บิดา ชื่อ วังคันตพราหมณ์
       มารดา ชื่อ นางสารี หรือ รูปสารี

       เกิดที่อุปติสสคาม ไม่ไกลพระนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย
       การศึกษา ได้สำเร็จศิลปศาสตร์หลายอย่าง เพราะเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ศึกษาได้รวดเร็ว อุปติสสะมีชื่อที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สารีบุตร เพราะเป็นบุตรของนางสารี แต่เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อนสพรหมจารีเรียกท่านว่า พระสารีบุตร อุปติสสะมีสหายคนหนึ่งชื่อ โกลิตะ เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม ทั้งสองมีฐานะทางครอบครัวเสมอกัน จึงไปมาหาสู่และไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ

       อยู่มาวันหนึ่ง คนทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนประชุมกัน เพราะญาณของทั้งสองถึงความแก่กล้า จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคายได้ความสังเวชว่า คนเหล่านี้ทั้งหมด ภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าไปสู่ปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่า เราทั้งหลาย ควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวช ในสำนักของสัญชัยปริพาชกพร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน ตั้งแต่สองสหายนั้นบวชแล้ว สัญชัยปริพาชก ได้มีลาภและยศอันเลิศ

๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

       อุปติสสะและโกลิตะปริพาชก ทั้งสองนั้นเรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น จึงไปถามปัญหากับสมณพราหมณ์ที่เขาสมมติกันว่า เป็นบัณฑิตในที่นั้น ๆ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกคนทั้งสองถามแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ แต่คนทั้งสองนั้นแก้ปัญหาของสมณพราหมณ์ทั้งหลายได้ เมื่อเป็นอย่างนั้น คนทั้งสองนั้น เมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมต่อไป จึงได้ทำกติกากันว่า ใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง

       วันหนึ่ง อุปติสสปริพาชกไปยังปริพาชการาม เห็นท่านพระอัสสชิเถระเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ คิดว่า บรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยมรรยาทอย่างนี้ เราไม่เคยเห็น ชื่อว่าธรรมอันละเอียด น่าจะมีในบรรพชิตนี้ จึงเกิดความเลื่อมใสมองดูท่าน ได้ติดตามไปเพื่อจะถามปัญหา

       ฝ่ายพระเถระได้บิณฑบาตแล้ว ได้ยังโอกาสอันเหมาะสมเพื่อจะฉันอาหาร ปริพาชกได้ตั้งตั่งของตนถวายเมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้วได้ถามถึงศาสดา พระเถระอ้างเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปริพาชกถามอีกว่าศาสดาของท่านมีวาทะอย่างไร พระเถระตอบว่าธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และเหตุแห่งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้

       อุปติสสปริพาชก ได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผล ด้วยการฟังธรรมนี้แล้วกลับไปบอกเพื่อน และแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน จึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปเฝ้าพระศาสดา

๓. วิธีบวช

       พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่านี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขา พร้อมกับอุปติสสะและโกลิตะด้วย เมื่อทั้งสองบวชแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียก อุปติสสะว่า สารีบุตร เรียกโกลิตะว่า โมคคัลลานะ

๔. บรรลุพระอรหัต

       พระสารีบุตร บวชได้กึ่งเดือน (๑๕ วัน) อยู่ในถ้ำสุกรขตะ (ส่วนมากเรียกสุกรขาตา) กับพระศาสดา เมื่อพระศาสดาทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลานของตน ส่งญาณไปตามพระธรรมเทศนาได้บรรลุพระอรหัตถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ เหมือนบุคคลบริโภคภัตที่เขาคดมาเพื่อผู้อื่น

       พระอัครสาวกทั้งสองบรรลุพระอรหัต ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในที่ใกล้ พระศาสดาทั้งคู่ คือ พระสารีบุตรฟังเวทนาปริคคหสูตรในถ้ำสุกรขตะ พระโมคคัลลานะฟังธาตุกรรมฐานที่กัลลวาลคาม

๕. งานประกาศพระศาสนา

       พระสารีบุตรเถระ นับว่าได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา มีคำเรียกท่านว่า พระธรรมเสนาบดี ซึ่งคู่กับคำเรียกพระศาสดาว่า พระธรรมราชา ท่านเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระศาสดามากที่สุด ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเสพ จงคบ สารีบุตร และโมคคัลลานะเถิด ทั้ง ๒ รูปนี้เป็นบัณฑิต อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์ สารีบุตร เปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะ เปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะ ย่อมแนะนำในผลชั้นสูงขึ้นไป

       ครั้งที่พระเทวทัตประกาศแยกตนจากพระพุทธเจ้า พาพระวัชชีบุตรผู้บวชใหม่ มีปัญญาน้อย ไปอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ไปนำพระ เหล่านั้นกลับมา ท่านทั้งสองได้ทำงานสำเร็จตามพุทธประสงค์

       ท่านได้ทำให้ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเกิดความเลื่อมใส และผู้ที่มีความเลื่อมใสอยู่แล้ว มีความเลื่อมใสมั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยการชักนำ และการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดี เช่นชักนำน้องชาย และน้องสาวของท่านให้เข้ามาบวชโปรดบิดาและมารดาให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นอุปัชฌาย์บวชสามเณร และภิกษุจำนวนมาก ซึ่งต่อมาหลายท่านมีชื่อเสียง นับเข้าจำนวนอสีติมหาสาวก เช่น สามเณรราหุล สามเณรสังกิจจะ พระราธะ พระลกุณฑกภัททิยะ เป็นอาทิ

       ด้านการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างที่ดีนั้น พระสารีบุตรเถระเป็นผู้มีความกตัญญูอย่างยิ่ง ท่านได้บรรลุโสดาบัน และได้บวชในพระพุทธศาสนา เพราะได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิตั้งแต่นั้นมาท่านนับถือพระอัสสชิว่า เป็นอาจารย์ของท่าน ทำการเคารพกราบไหว้เสมอ ทราบว่าพระอัสสชิอยู่ทางทิศใด จะยกมือไหว้และนอน ผินศีรษะไปทางทิศนั้น

       อีกเรื่องหนึ่ง พราหมณ์ขัดสนชื่อราธะ ได้เคยแนะนำคนให้ใส่บาตรท่านทัพพีหนึ่ง ภายหลัง พราหมณ์นั้นศรัทธาจะบวช พระศาสดาตรัสถามในที่ประชุมสงฆ์ว่า ใครระลึกถึงอุปการะที่พราหมณ์นี้ ทำได้บ้าง พระสารีบุตรทูลว่า ข้าพระองค์ระลึกได้ พราหมณ์นี้ เคยแนะนำคนให้ถวายภิกษาข้าพระองค์ทัพพีหนึ่ง พระศาสดาประทานสาธุการแก่ท่านแล้วตรัสว่า สารีบุตร เธอเป็นสัตบุรุษที่มีความกตัญญูกตเวที แล้วตรัสสอนให้คนอื่นได้ถือเป็นแบบอย่าง และมอบให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์บวช พราหมณ์นั้น

๖. เอตทัคคะ

       พระสารีบุตรเถระ ภายหลังจากบรรลุพระอรหัตแล้วเป็นผู้มีปัญญามากสามารถแสดงธรรม ได้ใกล้เคียงกับพระศาสดาและสามารถโต้ตอบกำราบปราบปรามพวกลัทธิภายนอกที่มาโต้แย้งคัดค้าน พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาได้อย่างดี พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวา และเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก ดังพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรนี้ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก

๗. บุญญาธิการ

       เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า อโนมทัสสี เสด็จอุบัติในโลก พระสารีบุตรเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ได้เห็นพระนิสภเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระองค์ได้กล่าวอนุโมทนา อาสนะดอกไม้ แก่ดาบสทั้งหลาย มีความเลื่อมใส ปรารถนาฐานันดรนั้นในใจว่า โอหนอ แม้เราก็พึงเป็น พระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนพระนิสภเถระนี้ จึงถวายบังคมพระศาสดา แล้วกระทำความปรารถนาอย่างนั้น พระศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จโดย ไม่มีอันตราย จึงพยากรณ์ว่า เมื่อเวลาล่วงไปหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปป์แต่กัปป์นี้ไป จักได้เป็นอัครสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามว่าสารีบุตร ท่านได้บำเพ็ญบารมี มีทานเป็นต้น มาตลอดมิได้ขาด จนชาติสุดท้ายได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางรูปสารีในอุปติสสคาม ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย และได้รับเอตทัคคะตามความปรารถนาทุกประการ

๘. ธรรมวาทะ
       คนที่ทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา ต้องลำบากด้วยภาระ ฉันใด ภาระที่เราแบกอยู่ก็ ฉันนั้น
       เราถูกไฟ ๓ กอง เผาอยู่ เป็นผู้แบกภาระคือภพ เหมือนยกภูเขาพระสุเมรุมาวางไว้บนศีรษะ ท่องเที่ยวไปในภพ
       คนผู้มีใจต่ำ เกียจคร้าน ทิ้งความเพียรมีสุตะน้อย ไม่มีมรรยาท อย่าได้สมาคมกับเรา ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ
       ส่วนคนผู้มีสุตะมาก มีปัญญา ตั้งมั่นในศีลเป็นผู้ประกอบด้วยความสงบใจ ขอจงตั้งอยู่บนกระหม่อมของเราตลอดเวลา
       ข้าพระองค์จะย่ำยีพวกเดียรถีย์ ประกาศศาสนาของพระชินเจ้า จะเป็นธรรมเสนาบดีในศาสนา ของพระศากยบุตรตั้งแต่วันนี้เป็นตันไป

๙. ปรินิพพาน

       พระสารีบุตรเถระปรินิพพานก่อนพระศาสดา โดยได้กลับไปนิพพานที่บ้านเกิดของท่าน ก่อนจะนิพพาน ท่านได้ไปทูลลาพระศาสดา แล้วเดินทางไปกับพระจุนทเถระน้องชาย ได้เทศนาโปรดมารดาของท่านให้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วนิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธ พระจุนทเถระพร้อมด้วยญาติ พี่น้องทำฌาปนกิจสรีระของท่านแล้ว เก็บอัฐิธาตุไปถวายพระศาสดา ที่เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่เชตวันมหาวิหารนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น