ประวัติ พระราหุลเถระ


๑. สถานะเดิม

       พระราหุลเถระ
 นามเดิม ราหุล เป็นพระนามที่ตั้งตามอุทานของพระสิทธัตถะ พระราชบิดา ที่ตรัสว่า ราหุลํ ชาตํ เครื่องผูกเกิดขึ้นแล้ว เมื่อทรงทราบข่าวว่า พระกุมารประสูติ
      
พระบิดา ทรงพระนามว่า สิทธัตถะ
       พระมาร ทรงพระนามว่า ยโสธรา หรือ พิมพา
       ประสูติที่พระราชวังในนครกบิลพัสดุ์

๒. ชีวิตก่อนบวช

       หลังจากราหุลกุมารประสูติ เจ้าชายสิทธัตถะพระราชบิดาได้เสด็จออกบรรพชา พระกุมารเจริญ ด้วยสมบัติทั้ง ๒ คือ ชาติสมบัติ เกิดในวรรณกษัตริย์ และปฏิบัติสมบัติ มีความประพฤติดีงาม จึงทรงเจริญด้วยขัตติยบริวารเป็นอันมาก และได้รับการเลี้ยงดูอย่างพระราชกุมารทั้งหลาย

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

       พระศาสดาเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ในวันที่ ๓ ทรงบวชให้นันทกุมาร ในวันที่ ๗ พระมารดา พระราหุลทรงให้พระกุมารไปทูลขอมรดกกับพระองค์ พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า กุมารนี้อยากได้ทรัพย์ของบิดา แต่ว่าทรัพย์นั้นพันธนาใจให้เกิดทุกข์ ไม่สุขจริง เราจะให้ทรัพย์ประเสริฐยิ่ง ๗ ประการ ที่เราชนะมารได้มา จึงรับสั่งหาท่านพระสารีบุตร มีพุทธดำรัสว่า สารีบุตร เธอจงจัดการให้ราหุลกุมารนี้บรรพชา

๔. วิธีบวช

       พระเถระรับพุทธบัญชา แต่ว่าพระกุมารนั้นยังเล็กเกินไป อายุได้ ๗ ปี ไม่ควรที่จะเป็นสงฆ์ จึงทูลถามพระพุทธองค์ถึงวิธีบรรพชา พระศาสดาตรัสให้ใช้ตามวิธีติสรณคมนูปสัมปทา เปล่งวาจาถึง พระรัตนตรัย ให้พระกุมารบวช วิธีนี้ได้ใช้กันสืบมาถึงทุกวันนี้ เรียกว่า บวชเณร

       พระราหุลเถระนี้จึงได้เป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา ครั้นเวลาพ้นผ่านอายุกาลครบ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรม

       ในสมัยเป็นสามเณร ท่านสนใจใคร่ศึกษาพระธรรมวินัย ลุกขึ้นแต่เช้าเอามือทั้งสองกอบทรายได้เต็ม แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ตนได้รับโอวาทจากพระศาสดาหรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์จดจำ และเข้าใจให้ได้จำนวนเท่าเม็ดทรายในกอบนี้

       วันหนึ่งท่านอยู่ในสวนมะม่วงแห่งหนึ่ง พระศาสดาเสด็จเข้าไปหา แล้วตรัสจูฬราหุโลวาทสูตร แสดงโทษของการกล่าวมุสา อุปมาเปรียบกับน้ำที่ทรงคว่ำขันเททิ้งไปว่า ผู้ที่กล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ ความเป็นสมณะ ของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับน้ำในขันนี้ แล้วทรงชี้ให้เห็นว่า ไม่มีบาปกรรมอะไร ที่ผู้หมดความละอายใจกล่าวเท็จ ทั้ง ๆ ที่รู้จะทำไม่ได้

       ต่อมาได้ฟังมหาราหุโลวาทสูตรใจความว่า ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๕ ประการ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ตัดความยึดถือว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้วตรัสสอน ให้อบรมจิตคิดให้เหมือนกับธาตุแต่ละอย่างว่า แม้จะมีสิ่งที่น่าปรารถนา หรือไม่น่าปรารถนา ถูกต้อง ก็ไม่มีอาการพอใจรักใคร่ หรือ เบื่อหน่ายเกลียดชัง

       สุดท้ายทรงสอนให้เจริญเมตตาภาวนา เพื่อละพยาบาท เจริญกรุณาภาวนา เพื่อละวิหิงสา เจริญมุทิตาภาวนา เพื่อละความริษยา เจริญอุเบกขาภาวนา เพื่อละความขัดใจ เจริญอสุภภาวนา เพื่อละราคะ เจริญอนิจจสัญญาภาวนา เพื่อละอัสมิมานะ ท่านได้พยายามฝึกใจไปตามนั้น ในที่สุดได้สำเร็จพระอรหัตผล

๕. งานประกาศพระศาสนา

       พระราหุลเถระนี้ ถึงแม้จะไม่มีในตำนานว่า ท่านได้ใครมาเป็นศิษย์บ้าง แต่ปฏิปทาของท่าน ก็นำมาซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแก่บุคคลผู้ได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลัง ว่าท่านนั้นพร้อม ด้วยสมบัติ ๒ ประการ คือ ชาติสมบัติ และปฏิปัตติสมบัติ เป็นผู้ไม่ประมาทรักษา ศีล เหมือนนกต้อยตีวิด รักษาฟองไข่ เหมือนจามรีรักษาขนหาง สนใจใคร่ศึกษา เคารพอุปัชฌาย์อาจารย์ มีปัญญารู้ทั่วถึงธรรม มีความยินดีในพระศาสนา

๖. เอตทัคคะ

       พระราหุลเถระนี้ เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ดังได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้รับยกย่องจาก พระศาสดาว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ในการศึกษา

๗. บุญญาธิการ

       พระราหุลเถระนี้ ได้บำเพ็ญบุญญาธิการ อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานนานแสนนานหลาย พุทธกาล ผ่านมาในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้บังเกิดในเรือนผู้มีสกุล ครั้นรู้เดียงสาแล้ว ได้ฟังธรรมของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ต่อการศึกษา จึงปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง แล้วได้สร้างความดีมากมาย มีการทำความสะอาดเสนาสนะ และการทำประทีปให้สว่างไสวเป็นต้น ผ่านพ้นไปอีกหลายพุทธันดร สุดท้ายได้รับพร ที่ปรารถนาไว้ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของ เราทั้งหลาย ดังได้กล่าวมา

๘. ธรรมวาทะ

       สัตว์ทั้งหลาย เป็นดังคนตาบอด เพราะไม่เห็นโทษในกาม ถูกข่ายคือตัณหาปกคลุมไว้ ถูกหลังคาคือ ตัณหาปกปิดไว้ ถูกมารผูกไว้ด้วยเครื่องผูกคือความประมาท เหมือนปลาที่ติดอยู่ในลอบ

       เราถอนกามนั้นขึ้นได้แล้ว ตัดเครื่องผูกของมารได้แล้ว ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากขึ้นแล้ว เป้นผู้เยือกเย็น ดับแล้ว

๙. นิพพาน

       พระราหุลเถระ ครั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาตลอด อายุไขยของท่าน สุดท้ายได้นิพพานดับสังขาร เหมือนกับไฟที่เผาเชื้อหมดแล้วก็ดับไป ณ แท่นกัมพลศิลาอาสน์ ที่ประทับของท้าวสักเทวราช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น