ประวัติ พระมหากัจจายนเถระ


๑. สถานะเดิม

       พระมหากัจจายนเถระ
 เดิมชื่อว่า กัญจนมาณพ เป็นชื่อที่มารดาตั้งให้ เพราะทารกนั้นมีผิวกาย เหมือนทองคำ แต่คนทั่วไปเรียกตามโคตรว่า กัจจานะ หรือ กัจจายนะ
       บิดา ชื่อติริฏิวัจฉะ มารดาไม่ปรากฎชื่อ เป็นวรรณะพราหมณ์ กัจจายนโคตร บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต
       เกิดที่เรือนปุโรหิต ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี แคว้นอวันตี

๒. ชีวิตก่อนบวช


       กัญจนมาณพนั้น ครั้นเจริญวัยแล้ว เรียนจบไตรเพท เมื่อบิดาของเขาถึงแก่กรรมก็ได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทน คนทั้งหลายเรียกชื่อเขาตามโคตรว่า กัจจายนะ

๓. มูลเหตุของการบวช

       พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ทรงสดับว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก จึงส่งกัจจายนปุโรหิตไป เพื่อทูลอาราธนาพระศาสดาว่า ท่านอาจารย์ ท่านจงไปที่พระอารามนั้นแล้ว ทูลนิมนต์พระศาสดามาในวังนี้ ท่านปุโรหิตนั้นพร้อมกับบริวารอีก ๗ คน เดินทางออกจากนครอุชเชนีไปยังพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่พวกเขา กัจจายนปุโรหิต พร้อมกับคนทั้ง ๗ ได้บรรลุ อรหัตผลพร้อมปฏิสัมภิทา ๔

๔. วิธีอุปสมบท

       ครั้นบรรลุอรหัตผลแล้ว กัจจายนปุโรหิตพร้อมกับคนทั้ง ๗ ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดา ลำดับนั้นพระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุ มาเถิด ขณะนั้นเอง พวกเขาได้มีผมและ หนวดยาวประมาณ ๒ องคุลี ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นเหมือนพระเถระบวชมา ๖๐ พรรษา

๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา

       พระมหากัจจายนเถระ ทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จอย่างนี้แล้ว วันหนึ่ง จึงกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจัณฑปัชโชต ปรารถนาจะไหว้พระบาทและฟังธรรมของพระองค์ พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า กัจจายนะ เธอนั่นแหละจงไปในวังนั้น เมื่อเธอไปถึงแล้วพระราชาจักทรงเลื่อมใส พระเถระพร้อมกับภิกษุอีก ๗ รูป ได้ไปยังพระราชวังนั้นตามพระบัญชาของพระศาสดา ได้ทำให้พระราชาทรงเลื่อมใส แล้วได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ในอวันตีชนบทเรียบร้อยแล้ว จึงได้กลับมาเฝ้าพระศาสดาอีก ปกรณ์ ทั้ง ๓ คือ กัจจายนปกรณ์ มหานิรุตติปกรณ์ และเนตติปกรณ์ ได้ปรากฎขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ เพราะความปรารถนาในอดีตของท่าน

       เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัจจายนเถระ อยู่ที่ป่าไม้คุนธา แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรเข้าไปหา ตรัสถามถึงเรื่องที่พวกพราหมณ์ลือว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลว วรรณะพราหมณ์ขาว วรรณะอื่นดำ วรรณะ พราหมณ์เป็นบุตรของพระพรหม เกิดจากปากพรหม อันพระพรหมสร้างสรรค์ เป็นทายาทของพระพรหม

       พระเถระตอบว่า นั่นเป็นเพียงคำโฆษณาเท่านั้น แล้วได้อธิบายให้พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ยอมรับว่า วรรณะทั้ง ๔ เสมอกันตามความจริงที่ปรากฎ ๕ ประการ คือ

       ๑. วรรณะใดมั่งมี วรรณะอื่นก็ยอมเป็นคนรับใช้
       ๒. วรรณะใดประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมตกนรกเสมอกัน
       ๓. วรรณะใดเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน
       ๔. วรรณะใดประพฤติผิด เช่น ลักขโมย คดโกง ประพฤติผิดในกามเป็นต้น วรรณะนั้น ต้องถูกลงโทษเหมือนกัน
       ๕. วรรณะใดออกบวชประพฤติดีปฏิบัติชอบ ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับนิมนต์ให้นั่ง บนอาสนะ นิมนต์ให้รับปัจจัย ๔ หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน

๖. เอตทัคคะ

       พระมหากัจจายนเถระ เป็นผู้ฉลาดสามารถในการอธิบายคำที่พระศาสดาตรัสไว้ โดยย่อให้พิสดาร ได้ตรงตามพุทธประสงค์ทุกประการ เช่น ครั้งหนึ่ง พระศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่วิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายยังไม่เข้าใจเนื้อความ จึงอาราธนาพระเถระอธิบายให้ฟัง พระเถระอธิบายขยายความแห่งพระสูตรนั้นโดยพิสดารแล้วบอกว่า ถ้ารูปใดยังไม่แน่ใจก็ขอให้ไปทูลถามพระศาสดา ภิกษุทั้งหลายไปกราบทูลถามพระศาสดาตามที่ท่านได้อธิบาย พระศาสดาทรงสรรเสริญท่านแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะ เป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกับเรา แม้เราก็ต้องแก้อย่างนั้นเหมือนกัน เนื้อความแห่งธรรมที่เรา แสดงไว้โดยย่อมีความหมายอย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงทรง จำเนื้อความนั้น ไว้เถิด เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร ด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหากัจจายนะ เป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา ผู้จำแนกเนื้อความที่เรากล่าวไว้โดยย่อให้พิสดาร

๗. บุญญาธิการ

       พระมหากัจจายนเถระนี้ ได้บำเพ็ญกุศลมายาวนานในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาล พอเจริญวัยแล้ว วันหนึ่งได้ฟังธรรม ในสำนักพระศาสดา เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งจำแนกเนื้อความ ที่ตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร เกิดกุศลฉันทะปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้ตั้งปณิธานทำบุญมีทานเป็นต้นไว้เป็นอันมาก หลายพุทธันดรจนมาถึงพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ จึงได้ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ สมปณิธานที่ได้ตั้งเอาไว้

๘. ธรรมวาทะ

       วรรณะใดมั่งมี วรรณะอื่นก็ยอมเป็นคนรับใช้

       วรรณะใดประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมตกนรกเสมอกัน
       วรรณะเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์เหมือนกัน
       วรรณะใดประพฤติผิด เช่น ลักขโมย คดโกง ประพฤติผิดในกามเป็นต้น วรรณะนั้นต้องถูก ลงโทษเหมือนกัน
       วรรณะใดออกบวชประพฤติดีปฏิบัติชอบ ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับ นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ นิมนต์ให้รับปัจจัย ๔ หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน

๙. นิพพาน

       พระมหากัจจายนเถระ ได้ทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จด้วยการบรรลุอรหัตผลแล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในอวันตีชนบท ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุขอันเกิดจากพระอรหัตผล ในที่สุดได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เหมือนดวงประทีปที่หมดเชื้อแล้วดับไป จากหลักฐานในมธุรสูตร ท่านนิพพานภายหลังพระศาสดา

       ใจความมธุรสูตรว่า พระเจ้ามธุรราช ตรัสสรรเสริญพระธรรมเทศนาของท่านแล้ว ตรัสถามว่า ขณะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหน ท่านกราบทูลว่า ปรินิพพานแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น